Translate แปลภาษา

วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

กาลทานสูตร

 กาลทานสูตร
 ดูกรภิกษุทั้งหลายกาลทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
                  ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน ๑
                  ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป ๑ 
                  ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง ๑
                  ทายกย่อมให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล ๑ 
                  ทายกย่อมให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล ๑ 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้แล ฯ ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้า ทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใสทักขิณาทานจึงจะมีผลไพบูลย์ ชนเหล่าใดย่อมอนุโมทนาหรือช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น ทักขิณาทานนั้นย่อมไม่มีผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนาหรือการช่วยเหลือนั้น แม้พวกที่อนุโมทนาหรือช่วยเหลือย่อมเป็นผู้มีส่วน แห่งบุญ เพราะฉะนั้นผู้มีจิตไม่ท้อถอยจึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก.
 (ภาษาไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๓๖/๓๖.:  

วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

วิบากของผู้ทุศีล

วิบากของผู้ทุศีล

ภิกษุทั้งหลาย !  ปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ
นรก  เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน  เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.  วิบากแห่งปาณาติบาตของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อมีอายุสั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !  อทินนาทาน (ลักทรัพย์) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก  เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน  เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.  วิบากแห่งอทินนาทานของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งโภคะ.
ภิกษุทั้งหลาย !  กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้
มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.  วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจาร ของผู้เป็นมนุษย์ ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อก่อเวรด้วยศัตรู.
ภิกษุทั้งหลาย !  มุสาวาท (คำเท็จ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว  ทำให้มากแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อนรก  เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน  เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.  วิบากแห่งมุสาวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง  คือ  วิบากที่เป็นไปเพื่อการถูกกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง.
ภิกษุทั้งหลาย !  ปิสุณวาท (คำยุยงให้แตกกัน) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก  เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน  เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่ง ปิสุณวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง  คือ  วิบากที่เป็นไปเพื่อการแตกจากมิตร.
ภิกษุทั้งหลาย !  ผรุสวาท (คำหยาบ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว  ทำให้มากแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อนรก  เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน  เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.   วิบากแห่งผรุสวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อการได้ฟังเสียงที่ไม่น่าพอใจ.
ภิกษุทั้งหลาย !  สัมผัปปลาปะ (คำเพ้อเจ้อ)  ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งผรุสวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อวาจาที่ไม่มีใครเชื่อถือ.
ภิกษุทั้งหลาย !  การดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง  คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อความเป็นบ้า(อุมฺมตฺตก).
พุทธวจน แก้กรรม  หน้า ๑๑๗.
 (ภาษาไทย) อฏฺก. อํ. ๒๓/๑๙๒/๑๓๐. : คลิกดูวีดีโอ

ศีล ๕

 ศีล ๕

 (ปาณาติปาตา เวรมณี) เธอนั้น ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) วางท่อนไม้และศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลในบรรดาสัตว์ทั้งหลายอยู่.
(อทินนาทาน เวรมณี) เธอนั้น ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน (ลักทรัพย์) 
ถือเอาแต่ของที่เขาให้แล้ว หวังอยู่แต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย มีตนเป็นคน
สะอาดเป็นอยู่.
(กาเมสุมิจฉาจารา  เวรมณี)  เธอนั้น  ละการประพฤติผิดในกาม  เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม (คือเว้นขาดจากการประพฤติผิด) ในหญิง ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา  พี่น้องชาย พี่น้องหญิง หรือญาติรักษา  อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้  (ด้วยการคล้องพวงมาลัย)  ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น.
(มุสาวาทา เวรมณี) เธอนั้น ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท พูดแต่ความจริง รักษาความสัตย์ มั่นคงในคำพูด มีคำพูดควรเชื่อถือได้ ไม่แกล้งกล่าวให้ผิดต่อโลก.
(สุราเมระยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี) เธอนั้น เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา  คือสุราและเมรัย  อันเป็นที่ตั้งของความประมาท.
พุทธวจน ปฐมธรรม หน้า ๑๑๘.
(ภาษาไทย) ปา. ที. ๑๑/๑๙๖/๒๘๖.: คลิกดูพระสูตร

การให้ทาน

เมื่อให้ทาน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ? อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ?

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยมีความหวังผล ให้ทานโดยมีจิตผูกพันในผล ให้ทานโดยมุ่งการสั่งสม (บุญ) ให้ทานโดยคิดว่า “เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้” เขาจึงให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ ... เขาให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล ให้ทานโดยไม่มีจิตผูกพันในผล ให้ทานโดยไม่มุ่งการสั่งสม (บุญ) ให้ทานโดยไม่คิดว่า “เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้” แต่เขาให้ทานด้วยคิดว่า “การให้ทานเป็นการดี” เขาจึงให้ทาน คือ ข้าว น้ำ … ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าดาวดึงส์ เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า “การให้ทานเป็นการดี” แต่ให้ทานด้วยคิดว่าบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ … ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่ายามา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้ ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ … ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าดุสิต เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล ... ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนก แจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ เขาให้ทาน คือ ข้าว นํ้า … ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่านิมมานรดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี … ภคุฤาษี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส เขาให้ทาน คือ ข้าว นํ้า … ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัสดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทาน คือ ข้าว นํ้า … ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าพรหมกายิกา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

สารีบุตร ! นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

ภพภูมิ หน้า ๒๔๘
(ภาษาไทย) สตฺตก. อํ. ๒๓/๕๔/๔๙. : คลิกดูพระสูตร
http://faq.watnapp.com/th/other/86-daily-life/248-05-02-0033





วันเสาร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558

ไม่ต้องอาศัยความเชื่อ

ภิกษุทั้งหลาย. ! หลักเกณฑ์นั้นมีอยู่ ซึ่งเมื่อบุคคลอาศัยแล้วไม่ต้อง

อาศัยความเชื่อ ความชอบใจ การฟังตาม ๆ กันมา การตริตรึกไปตามอาการ
การเห็นว่ามันเข้ากันได้กับทิฏฐิของตนเลย ก็อาจพยากรณ์การบรรลุอรหัตตผล
ของตนได้ โดยรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำ
สำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำ เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย. ! หลักเกณฑ์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย. ! ภิกษุในกรณีนี้ เห็นรูปด้วยตาแล้ว รู้ชัดราคะโทสะ
โมหะซึ่งเกิดมีอยู่ในภายใน ว่าเกิดมีอยู่ในภายใน, รู้ชัดราคะโทสะ
โมหะอันไม่เกิดมีอยู่ในภายใน ว่าไม่เกิดมีอยู่ในภายใน. ภิกษุทั้งหลาย. !
เมื่อเธอรู้ชัดอยู่อย่างนี้แล้ว ยังจำเป็ นอยู่อีกหรือ ที่จะต้องรู้ธรรมทั้งหลาย
ด้วยอาศัยความเชื่อ ความชอบใจ การฟังตาม ๆ กันมา การตริตรึกไปตามอาการ
การเห็นว่ามันเข้ากันได้กับทิฏฐิของตน ? “ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !” ภิกษุทั้งหลาย. !
ธรรมทั้งหลายเป็ นสิ่งที่ต้องเห็นด้วยปัญญาแล้วจึงรู้ มิใช่หรือ ?
“ข้อนั้น เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !”
ภิกษุทั้งหลาย. ! นี่แหละ หลักเกณฑ์ ซึ่งเมื่อบุคคลอาศัยแล้ว ไม่ต้อง
อาศัยความเชื่อ ความชอบใจ การฟังตาม ๆ กันมา การตริตรึกไปตามอาการ
การเห็นว่ามันเข้ากันได้กับทิฏฐิของตนเลย ก็อาจพยากรณ์การบรรลุอรหัตตผล
ของตนได้ โดยรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำ
สำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.
(ในกรณีแห่งการ ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ด้วยผิวกาย และ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็ได้ตรัสต่อไปอีกโดยนัยอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งการเห็นรูปด้วยตา ทุกประการ ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น).
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า  ๗๐๐
 (ภาษาไทย)  สฬา. สํ. ๑๘/๑๔๓/๒๔๐.: คลิกดูพระสูตร